[10] เรื่องควรรู้ก่อนไปเดินป่าเส้นทางผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว จ.เพชรบุรี
[10] เรื่องควรรู้ก่อนไปเดินป่าเส้นทางผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว จ.เพชรบุรี
ระดับความยาก : 7 / 10 *เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์
ระยะเวลา : 3 วัน 2 คืน
ระยะทาง (ประมาณ) : 3.5 ก.ม. (แคมป์แรก) และ 4 ก.ม. (แคมป์สอง)
ระยะเวลาเดิน (ประมาณ) : 4 ชั่วโมง (ถึงแคมป์แรก : ผาหัวสิงห์) / 4 ชั่วโมง (ถึงแคมป์ที่สอง ยอดอ่างแก้ว)
รูปแบบการตั้งแคมป์ : เปล / **กางเต้นท์ขนาดเล็กได้ 2-3 หลัง
ผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว ถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่เดินป่าค้างแรมของจังหวัดเพชรบุรี ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางใหม่ที่น้อยคนนักที่รู้จักโดยมีจุดตั้งแคมป์อยู่สองแห่งคือ บริเวณผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว บ้านเขาอ่างแก้ว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ความสูงโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ถ้าหากใครกำลังมองหาเส้นทางเดินป่าที่ค่อนข้างลุย ๆ แบกของกันเองแบบไร้ลูกหาบและอยู่ไม่ห่างกรุงเทพมากนัก อยากลองชวนให้มาเดินทางเส้นทางผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้วกันดูสักครั้งรับรองว่าจะไม่ทำให้ผิดหวังกันอย่างแน่นอน (*ข้อมูลปี 2022)
1.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : ต้องติดต่อชุมชนก่อนเดินทางเข้าไป
สำหรับคนที่ต้องการเข้าพื้นที่ของผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว ขอแนะนำให้ติดต่อกับ กลุ่มท่องเที่ยวเขาถ้ำดิน-อ่างแก้ว พี่เอ๊ะ : 087-8237065 / ลุงวงศ์ :084-3214297 หรือ www.facebook.com/Angkeaw2022 เพื่อประสานงาน และเตรียมคนนำทางเพื่อไปยังยอดเขาอย่างปลอดภัย
2.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : อุปกรณ์และการเตรียมตัว
การเดินทางไปตั้งแคมป์ ณ ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว มีอุปกรณ์ที่แนะนำดังต่อไปนี้
ถุงมือผ้า : ในการปีนขึ้นไปยังจุดตั้งแคมป์ของผาหัวสิงห์พื้นที่เป็นเขาหินแหลมคม ควรมีถึงมือผ้าติดตัวเอาไว้เพื่อช่วยป้องกันการถูกหินบาด
รองเท้าพื้นหนา : ด้วยเหตุผลเดียวกับข้อแรก ถ้าหากรองเท้าพื้นบางอาจถูกเขาหินแทงทะลุได้ จึงควรเลือกรองเท้าพื้นหน้าจะเป็นการดีกว่า
เปลสนาม : พื้นที่ของจุดตั้งแคมป์ทั้งผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว เหมาะกับการผูกเปลนอนมากกว่าเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด สามารถกางเต้นม์ขนาดเล็กได้เพียง 2-3 หลังเท่านั้น (*ถ้าต้องการกางเต้นท์ควรมีแผ่นรองนอนด้วย เนื่องจากพื้นขรุขระ)
ฟลายชีทหรือทาร์ป : สำหรับกันน้ำค้าง น้ำฝน เมื่อผูกเปลนอน
ผ้าถุงสำหรับเข้าห้องน้ำ : สำหรับผู้หญิงเนื่องจากไม่มีห้องน้ำด้านบน
น้ำดื่ม : ขึ้นอยู่กับใครดื่มมากน้อยเพียงใด ในปริมาณที่เหมาะกับการเดินทางไปกลับ
เสื้อผ้าแบบหนา : ป้องกันการถูกหินมีคมบาดและแมลงกัดต่อย
3.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : พื้นที่เป็นป่าผสมภูเขาหิน
ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว เป็นป่าสมบูรณ์สลับกับภูเขาหินตลดทั้งเส้นทาง แต่โชคดีที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยลื่นสักเท่าใดนักถึงแม้ว่าจะมีฝนตกตลอดทั้งคืน ส่วนจุดชมทิวทัศน์ของทั้งผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วก็สามารถขึ้นไปได้ไม่ยากเพราะอยู่ติดกับจุดตั้งแคมป์ ทำให้สามารถเก็บรูปภาพสวย ๆ กลับมาได้อย่างไม่ยากเย็น
4.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : ยอดเขามีสัญญาณของโทรศัพท์ทุกค่าย
ข่าวดีสำหรับสาย Social! บนแคมป์ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วมีสัญญาณโทรศัพท์ของทุกค่าย อาจมีสัญญาณแกว่งบางไปตามแรงลม แต่ก็สามารถที่จะเล่นอินเทอร์เน็ตและติดต่อบอกข่าวกับที่บ้าน เพื่อนฝูงแบ่งปันช่วงเวลาสุดประทับใจได้อย่างง่ายดาย
5.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : ไม่มีแหล่งน้ำบริเวณแคมป์ทั้งสองแห่ง
บริเวณแคมป์ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วจะไม่มีแหล่งน้ำสำหรับใช้ในที่พัก แต่จะมีจุดเติมน้ำจากในลักษณะของตาน้ำผุดจากดินในช่วงก่อนปีนขึ้นไปยังยอดเขาอ่างแก้ว 2-3 จุด ขอแนะนำให้ทำการเติมน้ำในจุดนี้สำหรับใช้กรองดื่มและใช้ส่วนตัวให้เรียบร้อยสำหรับการใช้ตลอดทั้งวัน กับเดินทางลงจากยอดเขาในวันรุ่งขึ้น หรือรองน้ำฝนดื่มถ้าหากฝนตกในตอนกลางคืน
6.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : มีโอกาสได้พบกับทะเลหมอก
ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว หากโชคดีพอก็มีโอกาสจะได้พบกับทะเลหมอกที่แสนสวยงาม แต่ตอนที่ผู้เขียนไปนั้นค่อนข้างอกหัก! เนื่องจากฝนตกตลอดทั้งคืนทำให้มีหมอกก่อตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าหากใครมีโอกาสได้ไปก็อย่าลืมพกกล้องให้พร้อมสำหรับการเก็บภาพสวย ๆ ของทะเลหมอกเอาไว้ในความทรงจำด้วย แต่ถึงจะไม่ได้เห็นทะเลหมอก แต่ทิวทัศน์บนผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วก็ถือว่าสวยงามชวนหายเหนื่อยเช่นกัน
7.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : เส้นทางเดินทาง
เส้นทางผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว ถือว่ามีความชันมากพอสมควร มีลักษณะเป็นป่าสลับกับภูเขาหินที่มีความแหลมคม ระหว่างทางจะมีถ้ำดินและถ้ำพระนอนเป็นจุดให้ลงไปผจญภัยสำรวจ กับต้องปีนป่ายหินเพื่อขึ้นไปยังจุดตั้งแคมป์ ในขณะที่ต้องหอบหิ้วสัมภาระกับน้ำดื่มของตัวเองสำหรับใช้ในเวลาสองวันไปด้วย ถือได้ว่าค่อนข้างที่จะเป็นเส้นทางที่หนักเอาการเลยทีเดียว ยังไม่รวมที่ขากลับต้องโรยตัวลงตามเส้นทางสูงชันตัดเขาเพื่อลงไปยังหมู่บ้านอีกด้วย ถ้าหากใครไม่ชอบความสูงก็ควรถามใจตัวเองด้วยว่าเหมาะกับเส้นทางจริงหรือเปล่า
นอกจากนี้ ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วยังไม่มีเส้นทางการเดินแบบเป็นทางการเหมือนกับสถานที่เดินป่าทั่วไป ในตอนที่ผู้เขียนไปต้องบุกป่าฝ่าดงและเดินตามทางด่านสัตว์หลายครั้ง จึงไม่แนะนำให้แยกเดินป่าไปเพียงลำพังเพื่อป้องกันการพลัดหลง
8.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : สิ่งอำนวยความสะดวกในแคมป์ที่พัก
ในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในบริเวณแคมป์ที่พักบริเวณ ผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว มีดังต่อไปนี้
ห้องน้ำดอย : บริเวณแคมป์ไม่มีห้องน้ำอย่างเป็นทางการ แต่จะใช้ลักษณะของการขึงผ้าใบรองรอบทำเป็นห้องน้ำและมีถุงดำสำหรับทำธุระหนัก
แคร่ไม้ไผ่ส่วนกลาง : บริเวณยอดเขาอ่างแก้วผู้ดูแลพื้นที่ได้ตัดไม้ไผ่มาสร้างเป็นสถานที่นั่งสำหรับส่วนกลางขนาดใหญ่พอสมควรช่วยให้สามารถทานอาหารสะดวก (ไม่เมื่อยก้น) พอสมควร
9.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : ข้อห้ามและสิ่งที่ควรระมัดระวัง
ในการเดินเส้นทางผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว มีสิ่งที่ควรระมัดระวังควรทำตามเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย ดังต่อไปนี้
ลูกหาบ : ต้องติดต่อล่วงหน้าเพราะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีลูกหาบประจำ
ยอดเขาไม่ควรออกนอกเส้นทางที่กำหนด : เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการพลัดตกเขา
ไม่ควรแยกเดินทางเพียงลำพัง : เนื่องจากป่ายังสมบูรณ์อยู่มาก หากไม่มีคนนำทางอาจเกิดการหลงป่าได้
ระมัดระวังสัตว์ป่าและแมลงกัดต่อย : ป่ายังสมบูรณ์อยู่มากทำให้ยังมีร่องรอยของสัตว์ป่าให้เห็น ตอนที่ผู้เขียนไปพบรอยเท้า มูล และงูเหลือม รวมไปถึงมีสมาชิกในกลุ่มถูกแตนต่อยจนเกิดอาการแพ้ขณะเดินตามเส้นทาง จึงควรระมัดระวังตัวให้ดีขณะเดินทาง
ระวังหินร่วง : เส้นทางขากลับจากยอดอ่างแก้วจะเป็นการโรยตัวตัดผ่านจุดสูงชันเพื่อลงไปยังหมู่บ้าน ในบริเวณนี้การเดินทางโดยเฉพาะช่วงเวลาฝนตกกรุณาใช้ความระมัดระวังให้มาก เนื่องจากหินอาจคลายตัวเนื่องจากการชุ่มน้ำและหล่นลงไปใส่สมาชิกในกลุ่มที่เดินลงไปก่อน ถ้าหากหินเหล่านั้นกระแทกถูกจุดสำคัญอาจทำให้บาดเจ็บได้ง่าย
หาที่ผูกเปลให้ดี : บริเวณผาหัวสิงห์ค่อนข้างมีลักษณะเป็นช่องลม ดังนั้น ขอแนะนำว่าให้หาสถานที่ผูกเปลให้มีกำบังลมให้ดีไม่อย่างนั้นต้องเผชิญหน้ากับอากาศหนาวและลมที่พัดปะทะกับฟลายชีทตลอดทั้งคืน จนอาจหนวกหูจนข่มตาหลับไม่ลงกันเลยทีเดียว
10.เดินป่าผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว : ไม่มีทากดูเลือด
ข่าวดีที่สุดในเส้นทางผาหัวสิงห์ – ยอดอ่างแก้ว คือ ไม่มีทากดูดเลือดตลอดเส้นทางทำให้ไม่ต้องคอยกังวลใจว่าจะถูกจู่โจมเลือดสาดเมื่อไหร่ และยังไม่ต้องทนอึดอัดกับการสวมอุปกรณ์ใส่เพื่อป้องกันทากอีกด้วย (เย้!)
บทสรุปส่งท้าย : ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วเส้นทางป่าแสนอุดมสมบูรณ์ที่ผู้หลงใหลในผืนป่าไม่ควรมองข้าม!
สำหรับผู้เขียนแล้ว ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้วถือว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางธรรมชาติที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เส้นทางยังมีความอุดมสมบูรณ์สูงมากและมีโอกาสได้พบเห็นสัตว์หลากหลายชนิดตลอดทั้งเส้นทาง รวมไปถึงยังมีสถานที่ให้แวะชมถ่ายรูปตลอดทางอีกด้วย ถ้าหากใครไม่อยากเดินทางไปไกลมากเพื่อขึ้นเขา ลองแวะมาที่ผาหัวสิงห์ และยอดอ่างแก้ว เชื่อว่าจะไม่ทำให้ผิดหวังกับการผจญภัยอย่างแน่นอน...